เราเชื่อว่าความงามไม่ได้เป็นเพียงผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจและการเติบโตอีกด้วย นี่คือที่ที่เราแบ่งปันข้อเท็จจริง เคล็ดลับ และวิธีเพิ่มความมั่นใจของคุณและช่วยให้คุณตามทันเทรนด์

ชาเครื่องดื่มยอดนิยมระดับโลก

ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีคนนิยมดื่ม และมีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก แต่ก็เป็นเครื่องดื่มที่คนรู้จักน้อยมากเช่นกัน ในบทความนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักต้นกำเนิดของชาและชาประเภทต่างๆ กัน

ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีคนนิยมดื่ม และมีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก แต่เป็นเครื่องดื่มที่คนรู้จักน้อยมาก ชาแม้จะมีชื่อเรียกกันตามภาษาต่างๆ ทั่วโลกแต่สำเนียงที่ออกมากก็ไม่แตกต่างกันมาก เช่น ชา (Cha), เต (Th’e), ที (Tea)

ชามีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า CAMELLIA SINENSIS ซึ่งมีสายพันธุ์มากกว่า 1200 สายพันธุ์ และมีชื่อเรียกต่ากันมากมายขึ้นอยู่กับแหล่งที่ปลูก สายพันธุ์ของชาที่นิยมปลูกสามารถแยกออกได้เป็น 3 สายพันธุ์ใหญ่ๆ ได้แก่

  • ชาพันธุ์อัสสัม เป็นชาที่ขึ้นในเขตร้อน
  • ชาพันธุ์จีน เป็นชาที่ขึ้นในเขตหนาวเย็น
  • ชาพันธุ์อินโดจีน หรือชาพันธุ์ผสม

ชาเป็นพันธุ์ไม้พุ่มและไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นชาที่เติบโตจากธรรมชาติจะมีอายุมากกว่า 100 ปี ลำต้นสูงถึง 15-20 เมตร แต่ต้นชาที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงจะมีอายุประมาณ 60-80 ปี ลำต้นจะถูกตัดแต่งให้กลายเป็นพุ่มที่มีความสูงไม่เกิน 1.50 เมตร เพื่อความสะดวกในการเก็บใบอ่อน

ชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่ต้องการดูแลเอาใจใสอย่างไกล้ชิด การปลูกชาที่ดีต้องมีปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่พอเหมาะ การปลูกชาบนพื้นที่สูงจะได้ใบชาที่มีคุณภาพและรสชาติดี ส่วนของใบชาที่ให้คุณภาพสูงคือ ส่วนของยอด ยอดที่เก็บจะต้องมีใบอ่อนสองใบและก้านสีเขียวซึ่งก้านดังกล่าวจะยังไม่มีสารแทนนิน Tannin ทำให้สามารถทำการหมักได้ดี

ตำนานต้นกำเนิดชา

เรื่องราวเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดหรือตำนานเรื่องชาจากการศึกษาในเอกสารที่มีอยู่ในประเทศไทย พบว่าผู้คนส่วนใหญ่มีความคิดไขว้เขวกันมากเกี่ยวกับการดื่มชา ว่าใครเป็นคนริเริ่มในการดื่ม ซึ่งก็มีแนวความคิดเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการดื่มชาหลายแนวความความคิด ซึ่งสามารถประมวลเป็นแนวคิดได้ดังนี้

แนวคิดที่ 1

คือเรื่อง จักพรรดิเชิน หนุง ทรงต้มน้ำดื่มไกล้ๆ กับต้นชา พลันใบชาแห้งก็ปลิวตกลงไปในหม้อต้มน้ำ ครั้นพอนำใบชาออกแล้วทรงดื่มดูก็พอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อทรงดื่มแล้วเกิดความกระชุ่มกระชวยผิดปกติ หลังจากนั้นจึงได้มีการดื่มชาอย่างแพร่หลาย

แนวคิดที่ 2

คือมีเรื่องเล่าขานกันว่า มีนักบวชชาวอินเดียชื่อ ธรรม นักบำเพ็ญเพียรอยู่ก็เกิดอาการง่วงนอนจึงได้เด็ดใบไม้ที่อยู่ไกล้บริเวณนั้นมาเคี้ยวเป็นการแก้ง้วง และก็ได้ผล ดังนั้นทุกครั้งที่ง่วงท่านก็จะเด็ดใบไม้นั้นมาเคี้ยวและทำเช่นนี้จนสามารถบรรลุธรรมได้ ซึ่งใบไม้ชนิดนั้นก็คือใบชานั้นเอง

แนวคิดที่ 3

คือเมื่อสมัยหนึ่งได้เกิดโรคระบาดในตำบลหนึ่งของจีนมำให้ชาวบ้านต่างพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก เกี้ยอุย ซินแซ พบว่าสาเหตุของการเกิดโรคระบาดดังกล่าวเกิดจากผู้คนต่างพากันดื่มน้ำสกปรก จึงแนะนำให้ชาวบ้านต้มน้ำดื่ม และเพื่อให้ชาวบ้านเชื่อจึงเสาะหาใบไม้มาอังไฟให้หอมเพื่อใส่ลงไปในน้ำต้ม ซึ่งเกี้ยอุย ซินแส พบว่ามีพืชชนิดหนึ่งที่ให้กลิ่นหอมมากเป็นพิเศษ มีรสฝาดเล็กน้อยและแก้อาการท้องร่วงได้ จึงได้เผยแพร่วิธีการนี้ให้ชาวบ้านได้ทำตาม ซึ่งพืชที่ให้กลิ่นหอมนั้นก็คือ ต้นชานั้นเอง

แม้ว่าจะมีความเชื่อเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของชาที่ต่างกัน แต่วัฒนธรรมการดื่มชาก็ยังเป็นที่นิยมกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งวิธีการดื่มชาของแต่ละเชื้อชาติจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของวัฒนธรรมการดื่มและการยอมรับของคนในสังคมนั้นๆ

ชนิดของชา

ปัจจุบันมีการเรียกชื่อสมุนไพรต่างๆ ที่มีลักษณะการบริโภคเช่นเดียวกับชา เช่น ชาใบหม่อน ชาดอกคำฝอย ชาใบตะไคร้ เป็นต้น ซึ่งความจริงพืชชนิดดังกล่าวไม่มีความสัมพันธ์อะไรกับชาเลย เป็นการเรียกชื่อตามความนิยมซึ่งทำให้เกิดผลเสียคือ ทำให้ภาษาวิบัติ และทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสนเกี่ยวกับคำว่า ชา

คนจีนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ได้แบ่งชนิดของชาออกตามสายพันธุ์ที่ปลูก ช่วงระยะเวลาที่เก็บใบ และกรรมวิธีการผลิตที่เป็นความลับของแต่ละแหล่งผลิตซึ่งชนิดของชาจีนที่ทราบกันทั่วไป คือ

ชาเขียว

เป็นใบชาที่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนในการหมักใบชาที่เก็บได้จะนำไปไล่ความชื้นออก และทำลายเอ็นไซม์ในใบชาเพื่อไม่ให้ เกิดการหมักตัวขึ้น และ นำไปมวนหลังจากนั้นก็นำใบชาไปคั่วเพื่อให้ความชื้นเหลือเพียง 3%

ชาอูหลง

เป็นชาที่อยู่ระหว่างกึ่งกลางของขั้นตอนการผลิตชาเขียวและชาดำ ชาอูหลงเป็นชากึ่งหมัก ซึ่งการหมักคือการทำให้สารที่มีอยู่ในใบชาทำปฏิกิริยากับอากาศ การหมักก็จะมีเทคนิคที่แตกต่างกันแต่ขั้นตอนทั่วไปคือ เมื่อเก็บใบชามาแล้วก็นำมาไล่ความชื้น ระหว่างที่ไล่ความชื้นก็จะใช้มือโกยใบชาโยนขึ้นไปในอากาศและก็นวดใบชาไปด้วย ซึ่งการนวดนั้นเป็นการทำให้ใบชาช้ำและเป็นการเร่งให้ใบชาเกิดการหมักตัวเร็วขึ้น การหมักตัวของใบชาคุณสมบัติของตัวมันทั้งสี กลิ่น และรสชาติ ก็จะเปลี่ยนไป เมื่อใบชาหมักตัวได้ที่แล้วก็จะนำไปคั่วเพื่อทำลายเอ็นไซม์ คั่วจนให้มีความชื้นเหลือเพียง 2-3% ก็เสร็จกระบวนการ

ชาดำ

เป็นชาที่ผ่านการหมักแบบสมบูรณ์ แต่ขั้นตอนในการเก็บใบชาจนถึงการคั่วก็ไม่ต่างกันมากจากการผลิตชาเขียวและชาอูหลง ที่แตกต่างกันคือเวลาที่ใช้ในการหมักใบชา ซึ่งในกระบวนการผลิตชาดำนั้น ใบชาจะถูกปล่อยให้เกิดการหมักตัวเต็มที่ ใบชาก็จะมีสีและรสชาติเข้ม อายุการเก็บก็จะยาวนานกว่าชาชนิดอื่นๆ

และมีชาอีกชนิดหนึ่งที่รู้จักกันแต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักนั้นก็คือ ชาขาว

ชาขาว

เป็นชาที่มีคาเฟอีนน้อยที่สุดแต่มีสารยับยั้งอนุมูลอิสระมากกว่าชาเขียวถึง 3 เท่าชาขาวมีกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อนมากนัก กล่าวคือ เมื่อใบชามีความสมบูรณ์เต็มที่จะต้องถูกเก็บภายในเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง เมื่อเด็ดมาแล้วก็จะถูกนำไปตากแห้งโดยธรรมชาติทันทีจนแห้งสนิท การชงชาขาวจะให้เวลานานกว่าปกติ สีของน้ำชาจะใสกว่าและไม่ค่อยมีกลิ่น

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า มีการเรียกชื่อชามากกว่าสองหมื่นชนิด และมีชาจำนวนมากที่มีชื่อซ้ำกันได้สร้างความสับสนให้กับผู้ซื้อเป็นอย่างมากซึ่งมีทั้งของจริงและของปลอม ดังนั้นผู้ซื้อหรือผู้บริโภคชาควรต้องมีความรู้เรื่องชาที่ถูกต้องเพื่อจะได้ไม่ถูกหลอก หรือได้ชาที่ไม่มีคุณภาพแต่ราคาแพง

การแบ่งเกรดของชา

การแบ่งเกรดใบชาของจีน จะแบ่งเกรดและคุณภาพตาม ชนิดของพันธุ์ชาอายุของต้นชา ลักษณะของใบชา ฤดูที่เด็ด เวลาที่เด็ด และลักษณะของอากาศในวันเวลาที่เด็ด จากนั้นก็จะมาดูแหล่งที่มาของใบชา ส่วนท้ายสุดก็จะมาพิจารณาเรื่องกรรมวิธีในการผลิต ซึ่งจะมีการให้เกรดกันปีต่อปี

ส่วนการแบ่งเกรดใบชาทางยุโรปนั้น ใบชาที่คัดเกรดส่วนใหญ่จะเป็นใบชาที่เรียกว่า ชาดำ ซึ่งเป็นชาที่นิยมดื่มในหมู่ชาวตะวันตก คนไทยเราเรียกชาชนิดนี้ว่าชาฝรั่ง ซึ่งสถาบันที่มีชื่อในการคัดเกรดใบชาคือ Netherland Housr of Orange ซึ่งได้แบ่งประภทของชาลักษณะต่างๆ แล้วนำมาคัดเกรดอีกที

การเก็บรักษาใบชา

ใบชาจะต้องเก็บรักษาเป็นอย่างดีเพื่อจะคงไว้ซึ่งกลิ่น สี และรสชาติ สิ่งสำคัญที่มีผลกระทบต่อคุณภาพใบชาคือ ความชื้น อุณหภูมิ และกลิ่น

วิธีเก็บใบชาที่ถูกต้องมีดังนี้

  •  ภาชนะที่เก็บต้องแห้ง ไม่มีกลิ่น และสามารถป้องกันไม่ให้อากาศเข้าไปได้
  • หากซื้อชามาจำนวนมาก ควรแบ่งใบชาใส่ภาชนะที่เล็กพอเหมาะกับการใช้ในแต่ละสัปดาห์ ใบชาที่เหลือให้เก็บไว้อย่างมิดชิด
  • การนำชามาใช้ ไม่ควรใช้มือหยิบชาโดยตรงควรใช้ช้อนที่แห้งสนิดตัก
  • หลีกเลี่ยงการนำใบชาออกมาตากแดด เพราะแสงแดดจะทำลายคุณภาพใบชา

วิธีการชงชา

การชงชาใบ 

ก่อนที่จะใส่ใบชาลงภาชนะสำหรับชงนั้น ต้องนำภาชนะดังกล่าวมาราดด้วยน้ำร้อนให้ทั่วก่อนเพื่อเป็นการอุ่นภาชนะ แล้วจึงใส่ใบชาลงไปในกาชาให้พอดี แล้วค่อยรินน้ำที่ต้มไว้ลงไป หลักจากนั้นให้รินน้ำทิ้งไปเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ใบชาคลายตัว รินน้ำครั้งที่สองลงในกาชาทิ้งไว้ประมาณ1-2 นาทีแล้วค่อยรินน้ำชาลงในกาพักชา ก็จะได้นำชาคุณภาพชั้นดีที่มีรสชาติและกลิ่นหอมของชาอย่างเป็นธรรมชาติ

การชงชาแบบซอง 

ขั้นตอนก็ทำเช่นเดียวกับการชงชาใบ แต่มีเคล็ดลับอยู่ที่การสังเกตสีของน้ำชาหลังจากที่เราเทน้ำเดือดไปในถ้วยชา ถ้าน้ำชามีสีเข้มจนเกือบมองไม่เห็นปลายช้อน ให้เอาซองชาออก ไม่ควรใช้ช้อนบี้ซองชาก่อนที่จะนำซองชาออกทิ้ง เพราะจะทำให้ชามีรสชาติฝาดยิ่งขึ้น และชาชนิดซองสามารถใช้ชงได้ถึง 2 ถ้วย เมื่อนำซองชาออกจึงค่อยเติมน้ำตาล นม หรือมะนาวตามใจชอบ

สารประกอบในใบชา

จากการค้นคว้า นักวิทยาศาสตร์พบว่าในใบชาแห้งจะประกอบด้วย โปรตีน 15%  เส้นใย 26%  โพลีฟีนอล 30%  กรดอะมิโน 4%  ไขมัน 7% คาเฟอีน 4%  คาร์โบไฮเดรต 7%  สารให้กลิ่น 0.1%  วิตามินต่างๆ ซาโปนิน  เม็ดสีที่เป็นคลอโรฟิลล์และแคโรทีน 2% แร่ธาตุต่างๆ 5% เช่น โปแตสเซี่ยม แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม เหล็ก แมงกานีส ซัลเฟอร์ โซเดี่ยม เป็นต้น

คุณประโยชน์และสรรพคุณของชา

ชามีฤทธิ์ฝาดใช้รักษาอาการท้องร่วง ลดอาการร้อนใน แก้อาการกระหายน้ำ ทำให้การหมุนเวียนของโลหิตดีขึ้น ขจัดแอลกอฮอล์ในร่างกายได้เร็วขึ้น ทำให้สมองปลอดโปร่ง สารต้านอนุมูลอิสระป้องกันการแก่ก่อนวัย ขับปัสสาวะ บำรุงสายตา รักษาอาการปวดเมื่อยตามลำตัว ลดอาการโรคเบาหวาน ป้องกันโรคฟันผุ ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต หายใจได้คล่อง ช่วยลดน้ำหนัก คนญี่ปุ่นดื่มชาเขียวเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง และในชายังมีสารที่มีคุณสมบัติคล้ายยา AZT ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ และที่น่าสนใจมากคือ พบว่าคนรัสเซียที่อยู่ในไร่ชา รวมทั้งคนจีนและคนญี่ปุ่นที่มีอายุยืนยาว ล้วนมีการดื่มชากันมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้วงการแพทย์ญี่ปุ่นกำลังพยายามจะแยกสารขมออกจากชาเพื่อนำมาใช้รักษาโรค และแนะนำว่าถ้าดื่มชาวันละ 3 ถ้วยจะได้รับวิตามินอี 50% และวิตามินเอ 20% ของความต้องการในแต่ละวัน กากใบชาที่ใช้ชงแล้วมีสรรพคุณรักษาแผลถูกน้ำร้อนลวก ช่วยดับกลิ่น กากชองเมล็ดชามีสารซาโปนินใช้สระและล้างสิ่งสกปรกออกจากเรือนผม ทำให้เส้นผมเป็นมันเงา

ข้อควรระวังในการดื่มชา

  • ผู้ที่เป็นโรคริคสีดวง หรือมักมีอาการท้องผูกไม่ควรดื่มชาที่เข้มมากๆ
  • การดื่มชาที่เข้มข้นมากๆ ใกล้เวลาอาหาร จะมีผลทำให้กระเพาะดูดซับสารอาหารได้น้อยลง ควรดื่มชาก่อนช่วงรับประทานอาหารประมาณ 2-3 ชั่วโมง
  • ไม่ควรดื่มชาในขณะที่กินยา เพราะสารประกอบในใบชาจะทำให้ฤทธิ์ยาเสื่อมลงหรือยาที่กินไปอาจกลายเป็นพิษ ควรดื่มชาก่อนและหลังรับประทานยาประมาณ 2-3 ชั่วโมง
  • เด็กหรือสตรีมีครรภ์ ไม่ควรดื่มชาในช่วงใกล้เข้านอนเพราะจะทำให้หลับยาก
  • ไม่ควรดื่มชาที่ร้อนจัด เพราะเนื้อเยื่อในช่องปาก ลำคอ และลำไส้จะถูกลวก
  • ไม่ควรดื่มชาที่ชงค้างคืนหรือชงทิ้งไว้นานหลายชั่วโมง  เพราะน้ำชาอาจจะบูด สารต่างๆ ในน้ำชาจะแปรเปลี่ยนเป็นสารพิษ
  • ควรจะดื่มน้ำชาให้พอประมาณไม่มากเกินไป จึงจะได้รับประโยชน์ที่ดีจากชา

อ้างอิงจากแหล่งข้อ

รายงานบทความเรื่องชา เครื่องดื่มที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก โดย ดร.สุรีย์ ภูมิภมร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ข้อมูลทางบรรณานุกรมของหอสมุดแห่งชาติ เรื่องชา เครื่องดื่มยอดนิยมระดับโลก โดย Koa Joseph S.G.

Sukinanda
Sukinanda

อยากจะเป็นแม่ค้าออนไลน์กับเขาบ้าง ไม่ต้องอุดหนุน กดไลค์ กดแชร์ให้ก็พอค่ะ หากสนใจสินค้าทักแชทในไลน์มีส่วนลดพิเศษให้นะ

Articles: 130

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *